เรือกระแชง ประวัติและความเป็นมา

เรือกระแชงนั้นเป็นเรือที่มีการต่อขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยลักษณะนั้นจะเป็นเรือต่อ ทำจากไม้สักคล้ายกับแตงโมผ่าครึ่ง ท้องเรือจะโค้งกลม ส่วนหัวและท้ายของเรือจะเป็นทวนแบบเรียบ กงเรือเป็นไม้โค้งตามท้องเรือวางเรียงกันถี่ ๆ ด้านข้างของเรือกระแชงจะเป็นแผ่นไม้หนายึดด้วยลูกประสักที่ทำจากไม้แสมเหลากลม เรือกระแชงมีหลากหลายขนาด เคลื่อนที่ได้โดยการใช้ถ่อหรือแจว ต่อมาภายหลังเริ่มมีเรือยนต์ลากจูงเข้ามาก็มักจะนิยมผูกเรือกระแชงต่อกันยาวให้เป็นขบวนแล้วใช้เรือยนต์ลากจูง

ลักษณะเด่นของเรือกระแชง
ลักษณะเด่นของเรือกระแชงคือจะมีประทุน หรือก็คือหลังคาโค้งคลุมตามลำเรือไว้สำหรับเป็นที่พัก
อาศัย หลบฝนหลบแดดภายในเรือ ซึ่งประทุนของเรือนั้นทำมาจาก "กระแชง" จึงเป็นที่มาของชื่อเรือกระแชง
กระแชงคือ
กระแชงก็คือใบเตยหรือใบจากมาเย็บเป็นแผงทำเป็นประทุนบังหลบแดดหลบฝน ต่อมาก็เริ่มมีการเปลี่ยนไปใช้สังกะสีแทนด้วยเหตุผลของเรื่องความคงทน
เรือกระแชงมักจะถูกใช้ในการบรรทุกข้าวสาร ข้าวเปลือก หิน ทราย ไม้ฟืนต่าง ๆ โดยในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นเรือกระแชงได้ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา